รถอารี เพื่อบุคลากรทางการแพทย์

รถอารี เพื่อบุคลากรทางการแพทย์

“รถอารี” คือ ?

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในขณะนี้  ทำให้เกิด “รถอารี” รถส่งของบังคับทางไกล ที่เป็นตัวช่วยสำคัญในการลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ในการใกล้ชิดหรือดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ช่วยให้ผู้ที่ต้องปฏิบัติงานมีความเครียดลดลง คลายความกังวล และลดความเหนื่อยล้า นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อชุด PPE ที่มีราคาสูงลงได้อีกด้วย

“รถอารี” เป็นผลงานการออกแบบและพัฒนาโดย MTEC, สวทช. และ บจก.บุญวิศวกรรม ซึ่งได้ทำการผลิตและส่งมอบไปยังโรงพยาบาลบางส่วนแล้วและได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ดังนั้น สวทช. จึงขยายผลโดยเพิ่มจำนวนการผลิต“รถอารี” ร่วมกับองค์กรเอกชนที่ยินดีร่วมสนับสนุน

บริษัท เมตริก วิศวกรที่ปรึกษาและสถาปนิก จำกัด จึงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย  และยังได้รับความร่วมมือในการสนับสนุนทุนเพื่อการผลิตจากพันธมิตร เช่น Department of Architecture Co., บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด, สถาบันอาศรมศิลป์, บริษัท เดอะ อัตตา จำกัด และผู้ไม่ประสงค์ออกนามอีกจำนวนหนึ่ง  นับถึงขณะนี้ สวทช.ได้ร่วมกับผู้ผลิต และผู้บริจาค ส่งมอบ “รถอารี” ไปแล้วเป็นจำนวน 9 คัน และอยู่ในขั้นตอนดำเนินการผลิตอีกกว่า 10 คัน แต่ก็ยังไม่เป็นที่เพียงพอ  ทาง สวทช. ยังได้รับคำขอรับบริจาค “รถอารี” เพิ่มเติมจากโรงพยาบาลเพื่อใช้งานในจุดที่ยังมีความต้องการอีก

 ความเป็นมาของ…รถอารี

จุดเริ่มต้นมาจากการที่ MTEC, สวทช. มีงบประมาณ 100,000 บาท ให้กับทีมวิจัย โดย ดร.ก่อเกียรติ เศษชัยชาญ และ ดร.สิทธา สุขกสิ ได้มาปรึกษากับ ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ ผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการด้านพยาบาลในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ (pandemic)  ทั้ง 3 ท่านจึงร่วมกันทำวิจัยสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจากเชื้อไวรัสโคโรน่า-2019

เมื่อได้สอบถามความต้องการจากบุคลากรทางการแพทย์พบว่า อยากให้มีอุปกรณ์ที่สามารถช่วยได้ในบางกิจกรรม เช่น การส่งอาหาร ยา อุปกรณ์/เครื่องใช้ต่างๆ ให้แก่ผู้ป่วยในหอผู้ป่วยความดันลบ หรือแม้กระทั่งการส่งเครื่องมือ/อุปกรณ์ ให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในห้องความดันลบ ซึ่งอุปกรณ์นี้จะต้องสามารถช่วย …

  1. ลดความเสี่ยงต่อการสัมผัส/ดูแล ผู้ป่วยติดเชื้ออย่างใกล้ชิด
  2. ลดการใช้ชุด PPE ที่มีราคาค่อนข้างสูง 
  3. ลดความเครียด ความกังวล ความเหนื่อยล้า ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้ด้วย

หลังจากได้โจทย์มาแล้ว นักวิจัยทั้ง 3 ท่านได้นำแนวคิดที่ว่า “ออกแบบอย่างไร ให้โดนใจผู้ใช้” หรือ ”Empathy in Design” ทำให้ได้รับรู้ถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งาน ดังนี้

  1. ผู้ใช้งานมีช่วงอายุที่หลากหลาย
  2. ต้องใช้งานง่าย แม้ไม่เคยมีประสบการณ์การใช้งานมาก่อน
  3. ต้องมีความทนทาน การบำรุงรักษาง่าย ใช้วัสดุน้อยชิ้น
  4. ต้องสามารถทำความสะอาดฆ่าเชื้อได้ทั้งหมด
  5. ต้องมีขนาดเล็ก กระทัดรัด ง่ายต่อการควบคุมในพื้นที่จำกัด และจัดเก็บได้ง่าย ไม่เปลืองพื้นที่
  6. การชาร์จไฟหรือชนิดของแบตเตอรี่ ต้องทำได้ง่ายหรือหาทดแทนได้สะดวก เมื่อถึงกำหนดเวลา
  7. ต้องสามารถนำไปใช้กับกิจกรรมอื่นได้ หลังช่วง pandemic
  8. ใช้งบประมาณน้อย เพื่อให้สะดวกในการขออนุมัติหรือขอรับบริจาค
  9. ต้องไม่ส่งสัญญาณรบกวนต่อเครื่องมือแพทย์และระบบโรงพยาบาล ในทางกลับกันก็ต้องไม่ถูกรบกวนการใช้งานจากเครื่องมือแพทย์และระบบโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน

เมื่อได้รับทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งานแล้ว  ทีมวิจัย MTEC, สวทช. ร่วมกับ บจก.บุญวิศวกรรม ทำการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ และ สวทช. เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการทดสอบการเข้ากันได้ทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ จนได้รับการรับรองตามมาตรฐาน IEC 60601-1-2  โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด  และนี่ถือเป็นจุดกำเนิด “รถอารี”  จนสามารถผลิตและส่งมอบให้กับโรงพยาบาลกลาง 1 คัน และสถาบันประสาทวิทยา 2 คัน ในช่วงการระบาดครั้งแรกของ Covid-19 และในการระบาดครั้งนี้  ได้ทำการผลิตและส่งมอบ “รถอารี” ให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้วไม่น้อยกว่า 9 คัน